วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อุตสาหกรรมสิ่งทอของโลก และโอกาสของไทย


สนับสนุนเนื้อหาโดย


         


       อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีจุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการมาค่อนข้างยาวนานโดยเริ่มต้นนั้นจะอยู่ในแถบยุโรปและในปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตมาในเอเชียเป็นหลัก เพราะมีความพร้อมในปัจจัยการผลิต กล่าวคือมีแรงงานจำนวนมากและราคาถูก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของอุตสากรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และมีแนวโน้มว่าเอเชียจะยังกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถานและประเทศกลุ่มอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น แต่จะมีการยกระดับความสำคัญในอุตสาหกรรมมากขึ้นจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสู่การออกแบบและการสร้างตราสินค้า ส่วนยุโรปจะยังคงความเป็นผู้นำในด้านของแฟชั่นและเจ้าของตราสินค้าชื่อดังระดับโลกต่อไป สำหรับในระยะยาวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลกในอนาคตจะทำให้อินเดีย ลาตินอเมริกา และประเทศในกลุ่มแอฟริกาก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรม โดยอยู่ในฐานะของการเป็นผู้รับจ้างผลิต เพราะจะกลายเป็นแหล่งแรงงานจำนวนมาก แต่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาโครงสร้างสนับสนุนอื่นๆเพื่อให้เหมาะสมกับภาคการผลิต

และเนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นในอนาคตจะมีระยะเวลาสั้น ทำให้ผู้ผลิตต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการสินค้าได้ในระยะเวลาอันสั้นขึ้น รวมทั้งบทบาทของผู้รับจ้างผลิต
ในอนาคตจะมีการขยายตัวมากขึ้น ไม่เพียงแต่ความสามารถในการผลิตเท่านั้นแต่ยังจำเป็นต้องมีความสามารถในการบริการครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงการบริหารจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ ทำให้ผู้รับจ้างการผลิตต้องมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการรับส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นทั้งห่วงโซ่คุณค่า
ส่วนสินค้านั้นจะมีการพัฒนาไปสู่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ต้องผสานทั้งรูปแบบความสวยงามเข้ากับประโยชน์การใช้งานที่ต้องหลากหลายขึ้น และมีความจำเพาะกับชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้นด้วย

การออกแบบที่ทันสมัยและเทคโนโลยีการผลิตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการที่จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมได้ และด้วยความก้าวหน้าของงานวิจัยและเทคโนโลยีจึงทำให้สิ่งทอสามารถขยายประโยชน์การใช้สอยไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลายได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นสิ่งทอเทคนิคและจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้ยังต้องผลิตภายใต้มาตรฐานและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ทั้งในด้านของวัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิต ปริมาณการใช้ทรัพยากรในการผลิต (เช่น ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณการใช้พลังงาน เป็นต้น) ตลอดจนวิธีการทำลายสินค้า ส่วนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้นมีการคาดการณ์ว่าทั้งเส้นใยฝ้ายและเส้นใยสังเคราะห์จะยังคงมีบทบาทที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีคุณสมบัติและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยฝ้ายนั้นมีศักยภาพใน เรื่องของต้นทุนการผลิต เพราะเป็นพืชที่สามารถปลูกใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ แต่ถ้าเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเส้นใย
สังเคราะห์นั้นจะต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในการผลิต ทำให้ราคานั้นจะแปรตามราคาของน้ำมันที่มีแนวโน้ม

เพิ่มมากขึ้นทุกวันและเป็นพลังงานที่หมดไป แต่เนื่องจากเส้นใยสังเคราะห์จะมีข้อได้เปรียบกว่าเส้นใยธรรมชาติในด้านของคุณสมบัติเส้นใยที่สามารถปรับและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการได้ ทั้งสองประเด็นจึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อไปในอนาคต ดังที่กล่าวข้างต้นนั้นจะเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดตำแหน่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยให้เหมาะสม โดยอาศัย


ศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ทำให้ไทยควรมุ่งหน้าการพัฒนาสู่การเป็น “ศูนย์กลางของสิ่งทอและแฟชั่นของภูมิภาคอาเซียน” เพราะเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้วจะพบว่าไทยนั้นมีศักยภาพในด้านของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ค่อนข้างโดดเด่น และอาศัยการรวมกลุ่มเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นประตูสู่การเป็นผู้นำสิ่งทอในอาเซียน โดยเป็นแหล่งวัตถุดิบสิ่งทอของภูมิภาค (Sourcing Center) นอกจากนี้ไทยยังมีศักยภาพในด้านของการออกแบบสินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ กอปรกับการเป็นผู้ผลิตสิ่งทอจะทำให้ไทยสามารถเป็นผู้นำในด้านของแฟชั่นและกำหนดรูปแบบแฟชั่นในภูมิภาคได้อีกด้วย และยังสามารถวางตัวเป็นตลาดกลางในการซื้อ ขาย และผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(Fashion Trading Hub) สำหรับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการซื้อขายสินค้าเพื่อนำไปบริโภคและนำไปค้าปลีกในประเทศของตนต่อไป ซึ่งแนวทางในการพัฒนาให้ไทยสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของสิ่งทอและแฟชั่นของภูมิภาคอาเซียนได้นั้นจะประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก ดังรูปด้านล่าง โดยจะมีการวางแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย และมีรายละเอียดดังนี้





(1) การสร้างและขยายความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน
เป็นการร่วมสร้างและขยายเครือข่ายการผลิตกับผู้ประกอบการอื่นในภูมิภาค โดยดึงเอาศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละประเทศ โดยไทยมีศักยภาพในด้านของสิ่งทอและจับคู่กับประเทศอื่นที่มีศักยภาพในด้านของเครื่องนุ่งห่ม

ในการสร้างความได้เปรียบสำหรับการบุกตลาดระดับโลก โดยเฉพาะเจ้าของตราสินค้าชื่อดังต่างๆ เพื่อแข่งขันกับ
ประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำต่อไปในอนาคต โดยแนวทางการสร้างเครือข่ายจะประกอบด้วย
• การสร้างและขยายเครือข่ายการผลิต : ในช่วงเริ่มต้นนั้นจะเป็นเพียงการสร้างเครือข่ายการผลิต
แต่ในขั้นตอนถัดไปนั้นจำเป็นต้องขยายการสร้างเครือข่ายการผลิตนี้ให้กับผู้ประกอบการที่มี
ศักยภาพในวงกว้างต่อไป
• การพัฒนาระบบการผลิตในเครือข่ายอาเซียน : เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการผลิตสินค้าให้กับประเทศ
ทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตทั้งในด้านของการยกระดับ
มาตรฐานการผลิตให้อยู่ในระดับสากล การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพอย่าง
สม่ำเสมอ รวมทั้งการให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาในส่วนของวัตถุดิบต้นน้ำ


(2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในการขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน
แนวทางนี้จะมุ่งเน้นการออกแบบและการสร้างตราสินค้าของผู้ประกอบการไทยให้ได้รับความนิยม โดย
เริ่มต้นจากในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเหมาะกับผู้ประกอบการไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถใน
การออกแบบสินค้า โดยแนวทางการพัฒนานี้จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้
ค่อนข้างมาก โดยแนวทางการพัฒนามีดังนี้
• การพัฒนาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย : การดำเนินการตลาดในปัจจุบันต้อง
นำไปสู่การตลาดเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ ดังนั้นแนวทางการพัฒนา
ช่องทางตลาดจึงควรเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศถึงความทันสมัยและการเป็น
ผู้นำแฟชั่น รวมทั้งการสร้างโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น การ
สร้างความหลากหลายของสินค้า และการตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าในกลุ่มประเทศเป้าหมาย
• การส่งเสริมศักยภาพของนักออกแบบไทย : การส่งเสริมศักยภาพของนักออกแบบนั้นสามารถ
ดำเนินการได้ในหลายมิติ ทั้งในด้านของการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ การส่งเสริมการพัฒนา
ศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถผลิต
สินค้าที่มีความทันสมัยได้

(3) การสนับสนุนและพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าสิ่งทอเทคนิค
สิ่งทอเทคนิคเป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ค่อนข้างสูง แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม
สำหรับการพัฒนาสินค้าชนิดนี้ ดังนั้นแนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาสิ่งทอเทคนิค จึงมุ่งสู่การพัฒนาในด้านของ
บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของ
ตลาด

(4) การยกระดับโครงสร้างสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม
การยกระดับโครงสร้างสนับสนุนนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและ
เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะประกอบด้วยการพัฒนาบุคลากรและมาตรการสนับสนุนต่าง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
• การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม: การพัฒนานี้จะครอบคลุมทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ
โดยแนวโน้มของการขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้น ทำให้ต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
ของแรงงานให้สูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการนั้นจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่าง
ผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าแต่ละขั้นตอน
• การพัฒนามาตรการสนับสนุน : มาตรการสนับสนุนจะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยผู้ประกอบการในการ
ดำเนินการมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการขยายการลงทุนในต่างประเทศที่มีความ
พร้อมในด้านของปัจจัยการผลิต รวมทั้งการจัดการกับระบบมาตรฐานการผลิตต่างๆของ
ผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งส่งเสริมการผลิต
ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


สนับสนุนเนื้อหาโดย

  Specialist in compressed air products
Ultra Compressor on Facebook
 
Contact Ultra Compressor 

20 ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 48 แยก 13 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250 
 โทร 0-2726-2311, E-mail sales@ultra-compressor.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น